Articles

รู้ไว้ไม่โดนหลอก เคล็ดลับจับผิดอัญมณีปลอม

หนึ่งในอัญมณีซึ่งเป็นที่นิยมทั่วโลกอย่างทับทิม ได้รับการขนานนามว่า “ราชาแห่งอัญมณี” ซึ่งมีการปลอมแปลงและเลียนแบบมากที่สุด การวิเคราะห์อัญมณีด้วยตาเปล่านั้นก็ไม่สามารถรับประกันได้อย่างแท้จริงว่าอัญมณีชิ้นนั้นเป็นของแท้ เพราะถูกสังเคราะห์ขึ้นจนเหมือนอัญมณีแท้จากธรรมชาติ
อัญมณีที่สวยงาม มักมีมูลค่าสูงไปตามความงามของอัญมณีเม็ดนั้นๆ แต่ก็มักจะหาได้ยาก จึงทำให้มีการทำเลียนแบบขึ้น โดยมีลักษณะเหมือนของแท้ ดังนั้นหากเป็นผู้ที่ไม่เคยศึกษาและมีประสบการณ์ด้านอัญมณีมาโดยตรงก็จะไม่สามารถดูรู้ได้เลยว่าเป็นของแท้หรือของเทียม ซึ่งการทำเลียนแบบส่วนใหญ่จะนิยมใช้แก้วเป็นวัตถุดิบในการนำมาเลียนแบบอัญมณีชนิดต่างๆ เพราะแก้วสามารถผลิตให้ได้สี ลักษณะเนื้อ และการผ่านแสงได้ตามความต้องการ อีกทั้งแก้วบางชนิดสามารถเคลือบโลหะหรือแผ่นตะกั่วไว้ที่พาวิลเลียน (ส่วนด้านล่างของอัญมณีที่เจียระไน) เพื่อให้เกิดการสะท้อนแสงที่ทำให้ดูเหมือนอัญมณีธรรมชาติมากขึ้น

ทั้งนี้ ในความเป็นจริง อัญมณีที่มีขนาดและน้ำหนักเท่ากันอาจจะมีมูลค่าไม่เท่ากัน ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดมูลค่าของอัญมณีโดยใช้ปัจจัย 4 ประการ ได้แก่
1. สี
2. ความสะอาด
3. คุณภาพการเจียระไน
4. น้ำหนักต่อเม็ด

อัญมณีประเภทพลอย เป็นอัญมณีที่มีการเลียนแบบเป็นจำนวนมาก และการวิเคราะห์ว่าพลอยเม็ดนั้นเป็นของเทียมหรือของแท้ อาจสังเกตได้ยากจากการมองด้วยตาเปล่า เนื่องจากมีทั้งเรื่องของเฉดสีที่มีความหลากหลาย ลักษณะความเข้มของสี รวมถึงลักษณะความสดหรือความอิ่มตัวของสีที่มีความเกี่ยวพันกับการดูอัญมณี ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ซื้อที่ขาดประสบการณ์ในการวิเคราะห์และเลือกซื้อพลอยแต่ละชนิด ในส่วนของพลอยชนิดทับทิม ถือเป็นอัญมณีที่มีการทำเลียนแบบของธรรมชาติมากที่สุด มักพบบริเวณที่มีการทับถมของก้อนกรวดทรายแบบอัลลูเวียม ในประเทศพม่า ไทย ศรีลังกา เวียดนาม เคนยา แอฟริกา กัมพูชา อัฟกานิสถาน อินเดีย และปากีสถาน ทับทิมเป็นอัญมณีที่มีความแข็งรองจาก “เพชร” ซึ่งแต่เดิมเชื่อว่าทับทิมสามารถฉายแสงผ่านเสื้อผ้าและทำให้น้ำเดือดได้ จึงทำให้ทับทิมได้รับความนิยมในการนำมาทำเป็นเครื่องประดับ ดังนั้นทับทิมในท้องตลาดส่วนใหญ่จึงมีการผ่านกระบวนการเพิ่มคุณภาพด้วยความร้อนมาแทบทั้งสิ้น ทำให้ทับทิมเม็ดนั้นอาจด้อยคุณภาพลง ซึ่งอาจารย์นพดล เองสิริดำรงกุล อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์อัญมณีแห่งสถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย (AIGS) กล่าวถึงรายละเอียดของการวิเคราะห์ทับทิมว่า การแยกทับทิมแท้และปลอมใช้หลักการเดียวกันกับเพชร แต่ต่างกันที่สี ตำหนิและความแวววาว ซึ่งสีและตำหนิภายในจะแปรเปลี่ยนไปตามแหล่งต้นกำเนิด โดยทับทิมแท้มักจะมีลักษณะดังนี้

1. สีทับทิมทั่วไปที่เห็นในท้องตลาดจะมีสีแดง แต่จะหลากหลายในเรื่องของเฉดสี แต่สีที่จัดว่าดีที่สุด คือ “สีแดงเลือดนก”

2. มีตำหนิภายในที่เกิดจากธรรมชาติให้เราได้เห็นกันแทบทุกเม็ด ซึ่งเป็นลักษณะธรรมชาติของเนื้อที่เรายอมรับได้ อย่างเช่นตำหนิเส้นไหม ซึ่งเมื่อใช้กล้องขยาย 10 เท่า ส่องแล้วมักจะเห็นตำหนิเส้นไหมไขว้กันไปมา แต่ถ้าทับทิมเม็ดไหนมีความสะอาด สดใส ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นของปลอม หากเป็นทับทิมที่ถูกสังเคราะห์ขึ้น โดยมากมักมี 2 วิธี คือวิธีเฟลมฟิวชั่น (Flame Fusion) จะพบตำหนิภายในที่เป็นฟองอากาศ และสารตกค้างซึ่งละลายไม่หมด จากกระบวนการสังเคราะห์ และวิธีหลอมเหลวด้วยฟลักซ์ (Flux Melt) มักจะพบตำหนิภายในที่เป็นรอยนิ้วมือ

3. การเจียระไนพลอยทุกชนิดรวมถึงทับทิม ต้องมีการเจียระไนที่ได้สัดส่วนเหมาะสม มีความปราณีต ละเอียด เพื่อทำให้การเล่นไฟของพลอยเม็ดนั้นส่องแสงแวววาวได้ดี

ข้อมูล: สถาบันอัญมณีศาสตร์แห่งเอเชีย (AIGS)

ขอบคุณข่าวจาก ไทยรัฐออนไลน์

อ่านข่าวต่อได้ที่: https://www.thairath.co.th/content/265323