แซฟไฟร์เขียว (Green Sapphires) ในต่างประเทศ มักจะเรียกพลอยชนิดนี้ว่า โอเรียนตัล เอเมอรัลด์ (Oriental Emerald) ซึ่งเป็นคำที่เรียกใช้อย่างผิดๆ ที่มีการเติม คำว่า โอเรียนตัล เข้าไปข้างหน้าเพราะพลอยชนิดนี้ แต่เดิมพบมาก ทางตะวันออก และเพื่อที่จะแยกความแตกต่าง ระหว่าง พลอยแซฟไฟร์และพลอยชนิดอื่นที่มีสีคล้ายคลึงกัน ในกรณี ที่เรียก เอเมอรัลด์ ซึ่งหมายถึงมรกตนั้น เพราะมีสีเขียว คล้ายมรกต (จริงๆ แล้วไม่เหมือนมากนัก) ดังนั้น หากมีการเรียก ชื่อว่า โอเรียนตัล เอเมอรัลด์แล้ว โดยปกติจะหมายถึง พลอยแซฟไฟร์เขียวเท่านั้น การเรียกชื่อเช่นนี้ มักจะทำให้เกิด ความสับสนมากขึ้น สำหรับท่านที่ไม่อยู่ในวงการเพชรพลอย การใช้คำเช่นดังกล่าวมิใช่มีเฉพาะพลอยแซฟไฟร์เขียวเท่านั้น สีอื่นๆ ก็มี เช่น โอเรียนตัล โทแพซ (Oriental topaz) และ โอเรียนตัล แอเมทิสต์ (Oriental amethyst) เป็นต้น ซึ่งหมายถึงแซฟไฟร์สีเหลืองและสีม่วงตามลำดับ โดยสรุปแล้วก็คือพลอยคอรันดัมทั้งหมด เพียงแต่เป็นการยืม ชื่อพลอยชนิดอื่นที่เป็นเจ้าของสีนั้นมาใช้ และเติมคำว่า โอเรียนตัลเข้าไปข้างหน้าพลอยที่เป็นเจ้าของสีนั้นจริงๆ
ในประเทศไทยชนิดที่เรียก “เขียวส่อง” มีสีเขียว(อมน้ำเงิน) เหมือนเขียวใบไม้แก่ๆ อาจมีเหลืองปนบ้างเล็กน้อย มีความเป็นประกายสดใสหลังจากเจียระไนแล้ว ชนิดที่มีสีเข้ม และไม่มีน้ำเงินปนอยู่เลยจะสวยมากขึ้น และมีราคาแพงขึ้น ที่ควรสังเกต การเรียกชื่อพลอยแซปไฟร์ของทางจันทบุรี กับของทางกรุงเทพฯ นั้นต่างกันบ้างเล็กน้อย กล่าวคือ เขียวส่องในความหมายของชาวจันทบุรี (โดยเฉพาะที่บางกะจะ) จะหมายถึงพลอยแซฟไฟร์ที่มี น้ำหน้าสีน้ำเงิน และน้ำข้างเขียว ส่วนชนิดที่มีสีเขียวใบตองอ่อน หรือสีเขียวขวดน้ำอัดลมสไปร์ท จะเรียก “เขียวมรกต” หรือ “มรกต” ส่วนทางกรุงเทพฯ นั้นพลอยแซฟไฟร์สีเขียวทั้งหมด จะเรียก “เขียวส่อง” สำหรับชนิดที่มีสีเขียวอมเหลือง โดยทั่วไปเรียกกันว่า “เขียวบุษร์”

บางท่านที่เคยเดินทางไปซื้อพลอยของจันทบุรี อาจจะเคย ได้ยินคำว่า “พลอยออส” ฟังชื่อดูออกจะแปลก ไม่คุ้นหู ความจริงพลอยออสก็คือ พลอยแซฟไฟร์จากออสเตรเลีย มีทั้งชนิดสีน้ำเงินและเขียว ลักษณะ ผิวเผินโดยทั่วไปก็เหมือน พลอยจันท์ อาจจะเนื่องมาจากมีต้นกำเนิด เหมือนกัน คือเกิดใน หินบะซอลต์ ผู้คุ้นเคยบางท่าน อาจจะแยก ความแตกต่าง ของพลอยจากออสเตรเลีย และพลอยจันท์ไม่ได้ ตามคำบอกเล่า พลอยชนิดสีเขียว ของออสเตรเลียจะอมเหลือง มากกว่าพลอย จันทบุรี และแลดูโปร่งกว่า โดยเฉลี่ยทั่วไปไฟของ พลอยออสเตรเลีย เทียบพลอยจันท์ไม่ได้ และมีเนื้อค่อนข้างอ่อนกว่า พลอยจันท์ กล่าวกันว่าเหลี่ยมเจียระไนของพลอยออสเตรเลีย จะสึกเร็ว
พลอยแซฟไฟร์เขียวหรือแม้แต่น้ำเงินชนิดที่มีเขียวปน มักจะมีแถบสี (Colour zoning) หรือที่เรียกกันว่า ลายหิน ลองสังเกตดู ทางด้านบนของพื้นหน้าพลอย ที่เจียระไนเรียบร้อย แล้ว จะเห็นแถบ เส้นตรง มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยไม่ต้องใช้แว่นขยาย ถือเป็น ข้อแสดงคุณลักษณะที่แตกต่าง กับพลอยสังเคราะห์อย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ลายหินที่ปรากฎ ให้เห็นเด่นชัด แผ่ไปทั่วพื้นหน้าพลอย ก็จะทำให้พลอยราคาตกได้ เช่นกัน พ่อค้าพลอยจะถือเป็นตำหนิ อย่างหนึ่ง เพราะทำให้คุณค่า ความใสกระจ่าง สวยงามเป็นประกาย ของพลอยลดลงไปด้วย ในกรณีที่ลายหินปรากฎเห็นไม่ชัดเลือนลาง ขนาดต้องใช้แว่นขยาย หรือกล้องจุลทรรศน์ตรวจจึงจะเห็น กลับเป็นที่นิยม เพราะทำให้ เชื่อมั่นมากขึ้นว่าเป็นของแท้ธรรมชาติ ไม่มีที่ติ แต่ในทางกลับกัน การที่มีลายหินไม่ชัดหรือไม่มีเลย จะทำให้เกิดความยุ่งยาก ต่อการแยกความแตกต่างจาก พลอยสังเคราะห์ ต้องอาศัยวิธีการอื่น ซึ่งอาจจะไม่สะดวก และยากขึ้น

แสดง %d รายการ

Show sidebar